มาตรวัดที่ 1 มุมมองภาพลักษณ์
ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งจากวงการวิชาการและการสื่อสารกับคนทั่วไป คือ กลุ่มดัชนีที่วัดจากมุมมองภาพลักษณ์ นั่นเพราะข้อมูลหลักฐานการคอร์รัปชันหายากมาก ผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอให้ไปสอบถามความเห็นจากคนในสังคมนั้น ๆ นักลงทุนที่ทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ หรือนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องคอร์รัปชัน เพราะคนเหล่านี้น่าจะสรุปรวมสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน หรือเคยประสบกับตนเองออกมาเป็นมุมมองรวมต่อภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในสังคมนั้น ๆ ได้ดีที่สุด เราได้คัดเลือกตัวอย่างดัชนีประเภทนี้ที่น่าสนใจมา 3 ดัชนี ได้แก่ Corruption Perception Index (CPI), Corruption Situation Index (CSI), และ Global Corruption Barometer (GCB) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. Corruption Perception Index (CPI)
จัดทำโดย Transparency International (TI)
วิธีดำเนินการ Perceptions, Experiences
ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันผ่านมุมมองและความเข้าใจต่อการคอร์รัปชันด้วยการสำรวจประสบการณ์และความคิดเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ข้าราชการและบุคคลทั่วไป
รายละเอียด
2. Corruption Situation Index (CSI)
จัดทำโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
วิธีดำเนินการ Perceptions, Experiences
สำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันไทยเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของปัญหา ทัศนคติและจิตสำนึกของคนในสังคมและประสิทธิภาพในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
รายละเอียด
3. Global Corruption Barometer (GCB)
จัดทำโดย Transparency International (TI)
วิธีดำเนินการ Expert surveys
สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเต่อการรับรู้และประสบการณ์การทุจริต
คอร์รัปชันในชีวิตประจำวันเพื่อระบุสถาบันและบริการสาธารณะที่ถูกมองว่าทุจริต รูปแบบของการทุจริตและประสิทธิภาพของรัฐบาลหรือองค์กรอิสระในการต่อต้านคอร์รัปชัน
ดัชนี้ประเภทวัดมุมมองภาพลักษณ์นี้ แม้จะมีจุดเด่นหลายประการ เช่น สามารถวัดระดับคอร์รัปชันได้แม้จะไม่มีข้อมูลหลักฐานชัดเจน มีการวัดครอบคลุมหลายประเทศ และสามารถนำผลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันได้ แต่ก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน เพราะมุมมองภาพลักษณ์อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงเสมอไป เช่น รัฐออกนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันทางการเมืองที่มีประสิทธิผลมาก แต่ประชาชนไม่รับรู้และยังเห็นการจ่ายสินบนสูงเท่าเดิม จึงมีมุมมองว่าระดับคอร์รัปชันสูงอยู่ หรือ การที่ภาพลักษณ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันสถานการณ์ ปัญหานี้เรียกว่า ผลกระทบของห้องสะท้อนเสียง (Ecco Chamber Effect) คือการที่ผู้ตอบคำถามมักจะนึกถึงผลของดัชนีในปีก่อนแล้วก็อ้างอิงคำตอบตามผลนั้น แม้ว่าในความเป็นจริงสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือขอบเขตคำจำจัดความคำว่า คอร์รัปชัน ของบางดัชนี้กว้างมาก ครอบคลุมไปถึงปัจจัยที่อาจมีข้อถกเถียงถึงความเชื่อมโยง เช่น การควบคุมการใช้งบประมาณภาครัฐ ที่ถึงแม้รัดกุมแต่ก็ไม่สามารถรับประกันว่าจะมีคอร์รัปชันต่ำเสมอไป จึงอาจทำให้ผลไม่สะท้อนระดับการคอร์รัปชันที่แท้จริงได้