CPI ประเมินอะไร
ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันผ่านมุมมองและความเข้าใจต่อการคอร์รัปชันของกลุ่มคนภายในและภายนอกประเทศด้วยการสอบถาม การสำรวจประสบการณ์ และความคิดเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ข้าราชการและบุคคลทั่วไป นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของภาครัฐที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และเพิ่มความมั่นใจด้านการลงทุนในประเทศ มีการประเมินต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ใน 180 ประเทศทั่วโลก
วิธีการประเมินของ CPI
ผลลัพธ์ของประเทศแสดงผลคะแนนในระดับ 0 – 100 ประเทศที่ได้คะแนนสูง ยิ่งแสดงถึงสถานการณ์คอร์รัปชันที่ดี หากประเทศใดมีผลคะแนนไม่ถึงครึ่ง หรือ 50 คะแนน บ่งบอกถึงสถานการณ์คอร์รัปชันที่น่าเป็นห่วงและต้องมีการทบทวนแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉลี่ยคะแนนของทุกประเทศทั่วโลกจะอยู่ที่ 42 – 43 คะแนน โดยการคำนวณคะแนนของ CPI ใช้ชุดข้อมูลจำนวน 13 ชุดในการประเมินระดับความเข้าใจและการรับรู้ต่อการคอร์รัปชัน
หัวข้อการประเมินของ CPI
สำหรับคะแนนของไทยในปี พ.ศ. 2563 มาจากการประเมินจำนวน 9 ชุดข้อมูล ได้แก่
- Bertelsmann Foundation Transformation Index ความมีประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ
- Economist Intelligence Unit Country Ratings ระบบป้องกันการทุจริตในงบประมาณของภาครัฐและการทำสัญญากับรัฐ
- Global Insight Country Risk Ratings โอกาสในการจ่ายสินบนในการทำธุรกิจ
- IMD World Competitiveness Yearbook สำรวจความเห็นของกลุ่มผู้บริหารต่อความสามารถทางการแข่งขันและประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคธุรกิจ
- PERC Asia Risk Guide การรับรู้ระดับความรุนแรงของการทุจริตในภาครัฐโดยกลุ่มนักธุรกิจในประเทศและนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ
- PRS International Country Risk Guide ระดับการทุจริตคอร์รัปชันภายในระบบการเมือง
- Varieties of Democracy Project การวัดการทุจริตคอร์รัปชันทางการเมืองการปกครอง
- World Economic Forum EOS การจ่ายสินบนเพื่อขอใบอนุญาตและเอกสารราชการ
- World Justice Project Rule of Law Index การใช้อำนาจโดยมิชอบของข้าราชการ
ผลประเมินประเทศไทย
ไทยได้รับการประเมินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2555-2563) ไทยได้คะแนนอยู่ที่ 35 – 38 คะแนน และเคยติดอันดับสูงสุดอยู่ในอันดับที่ 76 โดยในปี พ.ศ. 2563 ได้คะแนนคงที่จากปี พ.ศ. 2562 ที่ 36 คะแนน และตกลงมาจากอันดับที่ 101 เป็นอันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่ากับประเทศเวียดนาม